ประวัติพระคาถาชินบัญชร
มีการบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้นำคาถาชินบัญชร ไปสวดถวายองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากนั้นพระองค์ทรงมีรับสั่งว่าบทสวดนั้นไพเราะ และทรงถามต่อว่า “ได้มาจากไหน ขรัวโตแต่งเองหรือเปล่า” สมเด็จพระพุฒาจารย์จึงได้ถวายการตอบไปว่า “หามิได้ เป็นสำนวนเก่าของเมืองเหนือ นำมาแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้” จึงได้มีข้อสันนิษฐานว่าคาถาชินบัญชรนั้น เริ่มต้นพระเถระชาวล้านนาอาจเป็นผู้แต่งขึ้น และสมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านนำมาดัดแปลงจนนิยมและสวดกันมาจนถึงทุกวันนี้

ความหมายของชินบัญชร
คำว่า “ชินบัญชร” แปลว่า กรง ซี่กรงของพระชินเจ้า โดยคำว่า “ชิน” แปลว่า คนชนะ หมายถึงพระชินเจ้าหรือพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า “บัญชร” แปลว่า กรง ลูกกรง ซี่กรง รวมกันเป็นชินบัญชร หมายถึง เกราะเหล็กดุจเพชร ที่สามารถป้องกันสิ่งอันตรายและศัตรูต่าง ๆ ได้ทั้งหมด

อานุภาพพระคาถาชินบัญชร
พระคาถาชินบัญชรนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้ใดสวดหรือภาวนาอยู่เป็นประจำ มีความเชื่อว่าไม่ว่าทำอะไร ก็จะมีอานุภาพเสริมในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

มีสติอยู่กับตัว และมีสมาธิสูง
คลาดแคล้ว ปลอดภัยจากอันตราย ภูติผี และคุณไสยทั้งปวง
มีเมตตามหาเสน่ห์ เสริมสิริมงคลกับตัวเอง
วาจาศักดิ์สิทธิ์ พบเจอเรื่องอัศจรรย์ใจได้บ่อย
ทำให้อาชีพดีขึ้น ค้าขายดีขึ้น รายได้ดีขึ้น สำเร็จสมดังใจ
ความเชื่อเรื่องห้ามสวดคาถาชินบัญชรในป่า
มีความเชื่อเล่าต่อ ๆ กันว่า ห้ามสวดคาถาชินบัญชรในป่า เพราะบทสวดชินบัญชรนี้มีอานุภาพมาก อาจจะไปส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างภพ ต่างภูมิ ที่อยู่ในป่า เช่น ภูติผี เปรต และอสูรกาย ซึ่งอมนุษย์ทั้งหลายนี้เขาอยู่ในป่ามานาน ไม่ได้เคยสัมผัสกับธรรมะ ไม่ได้ฟังบทสวดมนต์มาก่อน จึงอาจจะทำให้พวกเขาอยู่อย่างไม่ปกติสุขนั่นเอง

บทสวด

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา

ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเกเต มุนิสสะรา

สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร

หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะ ราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก

เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว

กุมาระกัสสโป เถโร มะเหสี จิตตะ วาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิคุณากะโร

ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ อุปาลี นันทะ สีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ

เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง

ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา

ชินา นานาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะ ลังกะตา
วาตะปิตตาทะสัญชาตา พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา

อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะ เตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา

อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ

แปลพระคาถาชินบัญชร


พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคืออริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
มี 28 พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกร เป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจพระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
มุนีผู้ประเสริฐคือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี พระเถระทั้ง 5 นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้าพระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใด ๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้ายคือ โรคลมและโรคดี เป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใด ๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ

https://www.wongnai.com/news/phra-katha-chin-na-ban-chon