องค์ประกอบแห่งมรรคมีองค์ 8
สมเด็จพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานอรรถาธิบายว่า มรรคมีองค์ 8 ประการนั้น ประกอบด้วย 1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ 3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ 5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ 7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ
1. สัมมาทิฏฐิ ความหมายทางเบื้องสูงนั้น หมายถึง ปัญญาอันกล้าหาญยอดเยี่ยม มีพระนิพพานเป็นอารมณ์สิ้นแล้วซึ่งอวิชชา คือ ความไม่รู้จริงในอริยสัจ และอนุสัย เห็นแจ้งในอริยสัจ ความหมายทางเบื้องต่ำนั้น หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ คือปัญญาที่พิจารณาเห็น
ว่าการทำบุญต้องได้บุญ การทำบาปต้องได้บาป หรือทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว
2. สัมมาสังกัปปะ หมายถึง คิดชอบ เป็นต้นว่า คิดที่จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล คิดที่จะออกบรรพชา คิดไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรใคร คิดที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ถ้าจะว่าโดยความหมายเบื้องสูงแล้วสัมมาสังกัปปะ หมายถึงความคิดมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์
3. สัมมาวาจา หมายถึง การกล่าววจีสุจริต 4 คือปราศจาก
1. มุสาวาท ได้แก่ การพูดเท็จ
2. ปิสุณาวาจา ได้แก่ การพูดส่อเสียด
3. ผรุสวาจา ได้แก่ การพูดคำหยาบ
4. สัมผัปปลาปะ ได้แก่ การพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
4.สัมมากัมมันตะ หมายถึง กายสุจริต 3 คือการประพฤติดี ประพฤติชอบด้วยกาย 3 ประการ คือ
1.งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับปาณาติบาต หรือการปลงชีวิต การฆ่า การประทุษร้ายกัน
2.งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับอทินนาทาน หรือการลัก การโกง การละเมิดสิทธิ์ตลอดจนการทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น
3.งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับกาเมสุมิจฉาจาร หรือการละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน เช่น ภรรยาสามี และบุตรธิดา เป็นต้น นอกจากนี้ จะต้องไม่ซ่องเสพสุราเมรัย ตลอดจนสิ่งเสพติดต่าง ๆ อีกด้วย
5.สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมปราศจากมิจฉาชีพ และกระทำการโกหกมายาเพื่อเลี้ยงชีพ เกี่ยวกับเรื่องสัมมาอาชีวะนี้ ยังมีพระธรรมเทศนาปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่ง เป็นต้นว่า ในสามัญญผลสูตรทรงมีพระดำรัสเทศนา มีประเด็นสำคัญว่า พระภิกษุควรเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ด้วยการเป็นหมอดู เป็นนักพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นผู้ประกอบพิธีแก้บนสะเดาะเคราะห์ ทำนายฝัน เป็นต้น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นดิรัจฉานวิชา นอกจากนี้ยังทรงห้ามเรื่องการปรุงยา และการประกอบอาชีพ
แพทย์อีกด้วยส่วนในวณิชชสูตรนั้นทรงมีพระดำรัสเทศนาห้ามพุทธบริษัทที่เป็นฆราวาส มิให้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจ 5 อย่าง คือ
1. การค้าขายศาสตราวุธ
2. การค้าขายมนุษย์
3. การค้าขายสัตว์
4. การค้าขายน้ำเมา
5. การค้าขายยาพิษ
6.สัมมาวายามะ คือสัมมัปปธาน หรือความเพียร 4 ประการ ได้แก่
1. ความเพียรเพื่อที่จะละอกุศลธรรมที่ตนเคยกระทำ
2. ความเพียรเพื่อที่จะมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
3. ความเพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ตนยังไม่เคยบำเพ็ญมาก่อน
4. ความเพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ตนเคยบำเพ็ญให้เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
7.สัมมาสติ ความหมายโดยเบื้องสูง หมายถึงการบำเพ็ญสติปัฏฐาน อันได้แก่ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือตาม ภาวะที่สิ่งนั้นเป็นอยู่ตามปกติ มี 4 ประการ คือ
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ ได้แก่ การพิจารณาเห็นกายต่าง ๆ ซึ่งซ้อนกันอยู่ภายในกายมนุษย์นี้ นับตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝันจนกระทั่งถึงกายธรรมระดับต่าง ๆ
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ หมายถึงการเห็นสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ของกายในกายที่ซ้อนกันอยู่ เวทนาภายนอกคือเวทนาของกายมนุษย์ เวทนาภายในคือเวทนาของกายภายในตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดเข้าไปตามลำดับ
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ หมายถึงการรู้ชัดถึง ภาวะจิตตลอดเวลา เช่น ถ้าจิตระคนด้วยราคะ หรือโทสะ หรือโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตระคนด้วยกิเล อย่างใด หรือถ้าจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตหลุดพ้น ไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น จิตภายนอกคือจิตของกายมนุษย์ส่วนจิตภายใน คือจิตของกายภายใน นับแต่กายมนุษย์ละเอียดเป็นต้นไป
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นธรรมภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ การพิจารณาเห็นธรรมภายนอก ได้แก่ การพิจารณาให้เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบส่วนการพิจารณาเห็นธรรมภายในนั้น หมายถึงพิจารณาให้เห็นดวงธรรมที่ทำให้
เป็นกายภายในต่าง ๆ นับตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ
สำหรับความหมายในเบื้องต่ำสัมมาสติ หมายถึง สติที่ระลึกนึกคิดในการบุญ เป็นต้นว่า คิดที่จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ระลึกถึงผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
8. สัมมาสมาธิ หมายถึง การเจริญอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นในที่ใกล้จะได้สำเร็จฌานส่วนอัปปนาสมาธิ คือองค์สมาบัติมีปฐมฌานเป็นลำดับต้นมีปัญจมฌานเป็นลำดับสูงสำหรับความหมายในเบื้องต่ำ หมายถึงความตั้งใจแน่วแน่ไม่ย่อหย่อนแห่งจิตในขณะบำเพ็ญทาน รักษา ศีล เจริญภาวนา ดับฟังพระธรรมเทศนาความแน่วแน่แห่งจิตในขณะบำเพ็ญกุศลธรรมดังกล่าวแต่ละขณะ จัดเป็นขณิกสมาธิจึงถือเป็นสัมมาสมาธิด้วย
https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=15101